วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เพศศึกษา


kanlayakanlaya2014@outlook.co.th

ความหมายของเพศศึกษา (Definition of sex education)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า “เพศ” หมายถึง “รูปที่แสดงให้รู้ว่าหญิงหรือชาย ซึ่งหากจะตีความกันแต่เพียงว่า “เพศ” คือ ลักษณะบอกให้ใครๆ รู้ว่า บุคคลนั้นๆ เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย” ในลักษณะของรูปธรรมเท่านั้น ก็เป็นการยากที่จะเข้าใจความหมายของความรู้เรื่องเพศได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับความหมายของเพศในลักษณะนามธรรมนั้น “เพศ” หมายถึง “ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ หรือกามารมณ์” ในทรรศนะของคน  ทั่วไป คำว่า “เรื่องเพศ” หรือ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า เซ็กส์ (sex)” มีความหมายที่กำกวม       ตีความได้หลายความหมาย เช่น บางครั้งคำว่า เซ็กส์ (sex) หมายถึง ลักษณะทางกายภาพที่บอกว่าเป็นเพศชาย หรือหญิง บางครั้งหมายถึงแรงขับหรือสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ที่แสดงออกเป็นพฤติกรรม บางครั้งหมายถึงพฤติกรรมทางเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางภาษาในวาทกรรมของสังคมไทย นักสังคมวิทยา 2 ท่าน คือ เนริดา คุค และ ปีเตอร์ แจกสัน (Nerida M. Cook and Peter A. Jackson, 1999) อภิปรายไว้ในหนังสือ “Genders & Sexualities in Modern Thailand” ว่า ในวาทกรรมไทยคำว่า “เพศ (phet)”       คำเดียวมีความหมายครอบคลุมวาทกรรมในสังคมตะวันตกปัจจุบันดังนี้
  1. ลักษณะทางชีวเพศ (biological sex) ที่บอกว่าเป็นเพศชายหรือหญิง เช่น เพศผู้ เพศเมีย
  2. ความเป็นเพศ (gender) เช่น เพศชาย เพศหญิง
  3. ภาวะทางเพศ (sexuality) เช่น รักร่วมเพศ (ร่วมสังวาส) รักสองเพศ และรักต่างเพศ
  4. การร่วมเพศ (sexual intercourse) เช่น ร่วมเพศ เพศสัมพันธ์ (Cook and Jackson, 1999)
ดังนั้น คำว่าเพศในภาษาไทย จึงมีความหมายครอบคลุมคำว่า sex, gender หรือ sexuality ด้วย
ส่วนคำว่า “ศึกษา (education)” หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรม เมื่อนำคำทั้งสองมาผสมกัน เป็นคำว่า เพศศึกษา จึงมีนักวิชาการให้คำจำกัดความที่หลากหลาย แต่คำจัดกัดความเหล่านั้นมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน
โดยสรุป เพศศึกษาคือ กระบวนการที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ อันเป็นผลทำให้บุคคล  เข้าใจพฤติกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตนับแต่เกิดจนตาย ทั้งในด้านความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องเพศ เพื่อสามารถปรับตัวดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกับคนเพศเดียวกันหรือต่างเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทสำคัญของเพศศึกษา (Significant roles of sex education)
  1. ช่วยให้แต่ละคนเข้าใจและยอมรับหน้าที่ตามเพศของตน
  2. เข้าใจความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในฐานะเพื่อน ให้เกียรติกัน
  3. ตระหนักถึงความแตกต่างในลักษณะการนึกคิดและพฤติกรรมทางเพศ และยอมรับความแตกต่าง
  4. เข้าใจการเลือกคู่
  5. เข้าใจการเตรียมตัวรับผิดชอบต่อครอบครัว
  6. เข้าใจการเลี้ยงดูบุตรธิดาให้เติบโตเป็นพลเมืองดี

ความรู้เรื่องเพศ (Sex information)
ลักษณะของเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ สามารถแบ่งเป็นลักษณะใหญ่ ๆ 4 ด้าน ได้แก่
  1. ความรู้ด้านชีววิทยา (Biological aspect) เช่น กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์ทั้งชายและหญิง ลักษณะทางพันธุกรรมและสุพันธุกรรม (Genetic and Eugenic)
  2. ความรู้ด้านสุขวิทยา (Hygienic aspect) เช่น เรื่องเกี่ยวกับการป้องกันการเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพทางเพศ สุขวิทยาส่วนบุคคลเกี่ยวกับอวัยวะเพศ
  3. ความรู้ด้านจิตวิทยา (Psychological aspect) เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับสภาวะจิตใจและอารมณ์ในเรื่องเพศ พัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ทางเพศในวัยต่างๆ การปรับตัวเข้ากับเพศเดียวกันและต่างเพศ ความรู้สึก ทัศนคติต่อเรื่องเพศ และต่อเพศตรงข้าม เป็นต้น
  4. ความรู้ด้านสังคมวิทยาและวัฒนธรรม (Sociological and cultural aspect) เช่น เรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการทางเพศในด้านสังคม เช่น ความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันและต่างเพศ เพศสัมพันธ์ ปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การเกี้ยวพาราสี การเลือกคู่ครอง การใช้ชีวิตคู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมทางเพศต่าง ๆ

สถานการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ
ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศยังเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอยู่มากเนื่องจากพฤติกรรมทางเพศถือเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นความลับ ดังนั้นข้อมูลที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงอาจมีหลายส่วนที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง ในอเมริกามีบางรายงานแจ้งว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของเพศชาย และ 28 เปอร์เซ็นต์ของเพศหญิง มีเพศสัมพันธ์เพียงบางโอกาสในรอบ 1 ปี ในประเทศอังกฤษพบว่าประชาชนใช้เวลา 3.5 ปีในชีวิตสำหรับการกิน   2.5 ปีสำหรับการพูดโทรศัพท์   2 สัปดาห์สำหรับการจุมพิต และมีเพศสัมพันธ์ 2580 ครั้งกับคู่ (โดยเฉลี่ย) 5 คน
แม้ว่าอัตราการมีเพศสัมพันธ์จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่พบว่าระยะเวลาความสัมพันธ์หรือการแต่งงานกลับมีผลผกผันกับอัตราการมีเพศสัมพันธ์มากกว่าอายุ นอกจากนี้อัตราการมีเพศสัมพันธ์ยังแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม เพศสัมพันธ์หลังอายุ 40 ปี จะลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญในบางประเทศของทวีปเอเชียเมื่อเทียบกับทวีปยุโรป เช่น ในประเทศอินเดียคู่สมรสหลายๆคู่หยุดมีเพศสัมพันธ์หลังอายุ 50 ปี หรือเมื่อบุตรสาวแต่งงานหรือเมื่อมีหลายยายคนแรก
เมื่อเรื่องเพศมีบทบาทสำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมหลาย ๆด้าน จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษา เพื่อให้เข้าใจเรื่องเพศและพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ในสังคม ตลอดจนการทำความเข้าใจในวัฒนธรรมทางเพศของกลุ่มสังคมย่อย และเข้าใจความขัดแย้งของวัฒนธรรมทางเพศที่อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมได้

รูปแบบของเพศสัมพันธ์ (Forms of sexual relation)

รูปแบบของเพศสัมพันธ์ในสังคมสามารถจัดได้เป็นสองลักษณะ คือ
  1. เพศสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ (Heterosexuality) เป็นเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง และถือว่าเป็นพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ของคนส่วนใหญ่ เนื่องจากหน้าที่ของเพศสัมพันธ์ในด้านการขยายเผ่าพันธุ์ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงยอมรับและเข้าใจว่าเพศสัมพันธ์แบบชายกับหญิงเท่านั้นที่เป็นพฤติกรรมปกติ
สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมระบบสามีเดียวภรรยาเดียว (Monogamy) หมายถึงการที่ชายหนึ่งหญิงหนึ่งอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา แต่คนบางกลุ่มมีระบบครอบครัวแบบหลายสามีหลายภรรยา ซึ่งในสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นแบบสามีเดียวหลายภรรยา (Polygamy)
  1. เพศสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) เป็นความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากสังคมไทยถือว่าเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงเป็นเพศสัมพันธ์ปกติ ดังนั้นพฤติกรรมรักร่วมเพศจึงกลายเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะมีพฤติกรรมทางเพศแบบรักทั้งสองเพศ (Bisexuality) ซึ่งมีเพศสัมพันธ์ทั้งกับเพศตรงข้ามและกับเพศเดียวกัน

วัฒนธรรมทางเพศในสังคมไทย (Sexual culture in Thai society)

วัฒนธรรมความเชื่อเรื่องเพศ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมภาวะทางเพศของคนในสังคมและเป็นแนวทางในการแสดงออกของพฤติกรรมทางเพศของปัจเจกบุคคลทั้งเพศหญิงและเพศชายที่แตกต่างกัน เช่น ความเชื่อว่า ผู้ชายเป็นมนุษย์เพศที่เหนือกว่าผู้หญิง ผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย และผู้หญิงเป็นทรัพย์สมบัติของผู้ชาย ความเชื่อที่ว่าความต้องการทางเพศของผู้ชายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการตอบสนองและหาทางปลดปล่อย ในขณะที่เพศหญิงไม่จำเป็นต้องทำเช่นผู้ชาย ความเชื่อที่ว่า ผู้ชายชาตรีต้องมีความสามารถในเรื่องเพศ แต่ผู้หญิงที่ดีไม่ควรแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น
ในปัจจุบันแม้ว่าสภาพสังคมจะเปลี่ยนไป มีการผสมผสานวัฒนธรรมทางเพศของไทยและต่างประเทศผ่านกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่วัฒนธรรมไทยดั้งเดิมหลายอย่าง ยังมีส่วนกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมอยู่มาก การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก การอพยพแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม หนุ่มสาวต้องพรากจากสังคมเดิมเข้ามาอยู่ในสภาพใหม่ ไม่มีพ่อแม่หรือญาติให้การคุ้มครองหรือปรึกษาหารือ การพบปะของหนุ่มสาวง่ายขึ้น ประกอบกับการยอมรับวัฒนธรรมอื่นทั้งวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ทำให้การแสดงออกทางเพศของคนในสังคมเปลี่ยนไป

เพศศาสตร์ (Sexology)
ตามความหมายของ Webster’s New Twentieth Century Dictionary ให้ความจำกัดความไว้ว่า “เพศศาสตร์(Sexology) คือ ศาสตร์ หรือวิทยาการที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์” เพศศาสตร์ เป็นวิทยาการหรือศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องเพศ โดยมีรากฐานมาจากศาสตร์หลายๆ แขนง เช่น จิตวิทยา จิตเวช จิตวิเคราะห์ นรีเวชกรรม วิทยายูโร วิทยาเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ (หมายถึงต่อมฮอร์โมนทั้งหลาย) ศาสตร์เหล่านี้จะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องหรือความผิดปกติทางเพศทุกชนิด และสามารถจะช่วยให้มนุษย์ทุกคนมีความสุขที่สุดในเรื่องกามารมณ์ได้ (คำนึง, 2522 อ้างจาก ชัยวัฒน์ ปัญจพงษ์ และคณะ, 2524:7) เพศศาสตร์ จึงมีความหมาย ที่แคบกว่าเพศศึกษา เพราะเพศศึกษานั้น ต้องรวมถึงความรู้เกี่ยวกับชีวิตและการศึกษาด้านต่างๆ   เช่น สุขวิทยา การแพทย์และสาธารณสุข การวางแผนครอบครัว ประชากรศึกษา จิตวิทยา วัฒนธรรม สังคม การเมือง ศาสนา และศีลธรรม เข้ามาผสมผสานด้วย เพศศึกษาจึงถือได้ว่าเป็นสหวิทยาการ (Multidiscipline)
การแบ่งแขนงของวิชาเพศศาสตร์ สามารถแบ่งตามหัวข้อได้หลายแบบ โดยจะกล่าวในที่นี้     2  แบบ คือ
การแบ่งแบบที่ 1
  1. เพศศาสตร์ในด้านสังคมศาสตร์ ประกอบด้วยประวัติความเป็นมา ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมถึงการเปรียบเทียบในแต่ละสังคมหรือวัฒนธรรม
  2. เพศศาสตร์ในด้านวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลง ทางสรีรวิทยา ทางกายวิภาคศาสตร์ ตลอดจนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  3. เพศศาสตร์ในด้านจิตวิทยา ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ตั้งแต่เริ่มต้นของความสัมพันธ์จนกระทั่งสิ้นสุด การเปลี่ยนแปลงของแต่ละวัย และกรณีของความผิดปกติทางจิตใจกับการมีเพศสัมพันธ์

การแบ่งแบบที่ 2 แบ่งโดยการใช้ขอบเขตของ Sexuality
  1. คู่ครอง (Sexual partnerships)
  2. การปฏิบัติเพศสัมพันธ์ (Sexual acts)
  3. ความหมายของเพศสัมพันธ์ (Sexual meaning)
  4. แรงขับและความสุขสันต์ทางเพศ (Sexual dive and enjoyment)
  5. สุขอนามัยทางเพศ (Sexual health)
  6. สุขอนามัยการเจริญพันธ์ (Reproductive health)
เนื่องจากแบบแรกเป็นการแบ่งที่เข้าใจง่าย ในการเรียนเพศศึกษาครั้งนี้จะกล่าวถึงเรื่องเพศในด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและจิตวิทยา เท่านั้น

การพัฒนาและอนาคตของเพศศาสตร์
เมื่อเริ่มต้นของมนุษยชาติการสืบพันธุ์และให้กำเนิดบุตรถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญ กระบวนการทางสังคมในการเลือกคู่และการแต่งงานได้ก็ถูกจัดขึ้นเพื่อหน้าที่นี้ ในยุคของบิดาเป็นผู้ปกครอง อำนาจเด็ดขาดต่อภรรยาและบุตรตกอยู่กับบิดา รวมทั้งเรื่องการมีเพศสัมพันธ์และการเลือกคู่ เมื่อกระบวนการทางสังคมของมนุษยชาติเริ่มเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของพ่อได้ถูกปรับปรุงแก้ไขโดยสังคมวัฒนธรรม การเลือกคู่โดยคำนึงถึงความรัก และต้องการมีคู่เพียงคนเดียว นอกจากนี้ ในสังคมปัจจุบันการเลือกคู่หรือกิจกรรมทางเพศยังคำนึงถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มเข้ามาอีกด้วย
เพศสัมพันธ์นอกจากจะเป็นหน้าที่หลักทางชีววิทยาของมนุษย์แล้ว ยังช่วยลดความเครียดในการดำรงชีวิตจากการกระตุ้นต่ออวัยวะเพศ ความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์จึงจัดเป็นผลพลอยได้ที่สำคัญของการมีเพศสัมพันธ์นอกจากการสืบเผ่าพันธุ์หรือการขยายพันธุ์ของมนุษย์ ดังนั้นเพศศาสตร์จึงรวมถึงความสุขที่สำคัญของมนุษย์ที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อโบราณที่กล่าวถึงเพศสัมพันธ์ไว้เฉพาะการทำหน้าที่สืบเผ่าพันธุ์ โดยจัดความสุขที่เกิดขึ้นว่าเป็นบาปที่ต้องชำระล้างอกไป สตรีมีหน้าที่ในการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นผลจากการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นสังคมจึงเริ่มผูกเรื่องเพศศาสตร์และการเจริญพันธุ์  เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุดังกล่าวหญิงหรือชายที่ต้องการมีคู่ จึงต้องเลือกคู่ของตนให้เหมาะสมกับคุณสมบัติด้านเพศ และด้านการเจริญพันธุ์รวมไว้ในคนเดียวกัน

การพัฒนาด้านเพศศาสตร์

การพัฒนาด้านเพศศาสตร์ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุค คร่าวๆ ดังนี้
  1. ยุคบิดาธิปไตย (Male dominance and hierarchy)
  2. ยุคความรักแบบโรแมนติก (Romantic love)
  3. ยุคปัจจุบัน (Modern sexuality)

1.            ยุคบิดาธิปไตย

ในยุคของผู้ชายเป็นใหญ่ และยุคขุนนาง การแลกเปลี่ยนของมีค่าและสตรี ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเพศศาสตร์ก็จัดอยู่ในกระบวนการที่สำคัญของการคงอยู่ของชนเผ่า สตรีและเด็กจะถูกปกป้องอย่างดีจากศัตรูภายนอก เมื่อสังคมเข้ามาสู่ยุคของบิดาเป็นใหญ่ในบ้าน เพศชายสามารถแสดงออกอย่างเสรีในด้านเพศต่อภรรยา หญิงรับใช้ ทาส หรือโสเภณี โดยหน้าที่ของสตรีมีเพียงการสร้างความพึงพอใจในด้านเพศต่อชาย และการเลี้ยงดูบุตร เมื่อศึกษาถึงเพศศาสตร์ในช่วง 200 ปี ที่แล้วมา ในภาษากรีก คำว่า “aphrodisia” หมายถึงการแสดงกิริยา หรือการสัมผัสซึ่งกระตุ้นความต้องการทางเพศ พฤติกรรมทางเพศและการเร้าอารมณ์ถูกพัฒนาผ่านทางอาหาร การแต่งงาน นครโสเภณีและการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กชาย โดยมีการควบคุมเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การนอน การสืบพันธุ์ ให้มีความสอดคล้องกัน ปัญหาทางเพศทุกชนิดไม่สามารถนำมาพูดคุยกันได้ จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ยุคของสังคมคริสเตียน เพศสัมพันธ์ในสมัยกรีกไม่จำเพาะที่จะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาเท่านั้น ยังสามารถมีเพศสัมพันธ์กับโสเภณี ภรรยาลับหรือทาสได้อีกด้วย โดยภรรยาต้องให้ความซื่อสัตย์ต่อสามีเท่านั้น ในยุคกรีกการแต่งงานได้รับการยอมรับและถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์
  1. ยุคความรักแบบโรแมนติก
ในยุคศักดินาการแต่งงานถูกจำกัดเฉพาะกับกลุ่มคนสังคมเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถรักษาทรัพย์สมบัติให้คงอยู่เฉพาะกับกลุ่มคนชั้นสูง เมื่อความรักถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ก็พบผลเสียของเรื่องนี้เกิดขึ้นตามมา ด้วยสมมุติฐานว่าด้วยบุคคลควรรักกับคนที่รักตนและพยายามรักษาคุณภาพของความสัมพันธ์นั้นไว้ ทำให้เกิดแรงกดดันระหว่างเพศขึ้น
เพศศาสตร์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของกลไก หรือว่าเป็นของมีค่าที่แท้จริงของความรักที่สร้างขึ้นระหว่างคู่หญิงชาย หรือเป็นเพียงสิ่งที่ทำลงไปเพื่อให้เพศสัมพันธ์สมบูรณ์ ในปัจจุบันความรักได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัว และความสัมพันธ์คล้ายกับการใช้เงินในระบบเศรษฐกิจและการใช้อำนาจในการปกครอง ความรักยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นคุณค่าที่แท้จริงของความรัก ความรักเป็นสิ่งถูกต้องเพียงอย่างเดียวในการหาคู่ครอง ปัจจัยอื่นๆ เช่น รายได้  ชั้นของสังคม หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตา ก็ถูกจัดเป็นอันดับรองในการตัดสินใจเลือกคู่ ความต้องการของการมีเพศสัมพันธ์ในปัจจุบันได้เพิ่มสิทธิในการต้องการถึงจุดสุดยอด(Organism) เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการมีเพศสัมพันธ์อีกด้วย
ในยุคของสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล เพศสัมพันธ์ถูกรวมเข้ามาอยู่กับความรัก ครอบครัวและการศึกษา ความรักในยุคนี้คงอยู่เฉพาะตัวตนของคนที่ตนรักตั้งแต่เริ่มตนจนสิ้นสุดแสดงออกในด้านการงานอย่างเปิดเผย ซึ่งอาจมีผลเสียต่อสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นๆ และความรักได้     ถูกวางค่าไว้ยิ่งใหญ่กว่าพิธีแต่งงาน
  1. เพศศาสตร์ในปัจจุบัน
เมื่อมีการพัฒนาของสังคม เพศศาสตร์ได้ถูกแบ่งตามหน้าที่ที่ได้เป็น เพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศและการสืบพันธุ์ ซึ่งหน้าที่ทั้งสองได้ถูกผสมผสานกันโดยชนชั้นกลาง ในศตวรรษ ที่ 19 ในลักษณะความรักแบบโรแมนติก ซึ่งการพัฒนาชีวิตคู่ดังกล่าวนี้ก็เริ่มมีปัญหาเมื่อคำนึงถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งจะถูกจำกัดในฐานะภรรยา เพศศาสตร์ในแง่ศีลธรรมและเพศสัมพันธ์ถูกแยกออกจากกัน ในแง่ศีลธรรมถูกใช้เพื่อขยายเผ่าพันธุ์ และในแง่เพศสัมพันธ์เพื่อตอบสนองความต้องการทางกาย
ยุคของความรักและเพศสัมพันธ์ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ได้เกิดชนิดของความสัมพันธ์กันในฐานะเพื่อน ซึ่งอาจมีบุตรเป็นตัวเชื่อมระหว่างกลางหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเด็กจำนวนมากที่เกิดมาโดยมีเพียงมารดาเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสได้สูญเสียความแข็งแกร่งและอิทธิพลลดลงไปมาก ดังนั้นคำว่า รัก ซึ่งเดิมถือว่าเป็นรหัสเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของคู่รักและสังคมได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบไป เป็นไปได้หรือไม่ที่ความรักแบบโรแมนติกที่ถูกพัฒนาโดยนักร้องและนักเขียนนวนิยาย จนกระทั่งถึงภาพยนตร์รักอมตะใกล้ถึงจุดอวสาน จากความเดิมซึ่งเชื่อว่า ความรักส่งผลให้เกิดการแต่งงานและมีบุตรหลาน ซึ่งเป็นการสืบเผ่าพันธุ์และคงความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างกันไว้
อย่างไรก็ตามการกล่าวถึงเพศสัมพันธ์ว่าเป็นการแสดงออกถึงความรักเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ในปัจจุบันความรักถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่มีความยั่งยืน ในยุคของสิทธิมนุษยชน     เบ่งบาน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งคู่สามีภรรยาก็มีสิทธิเท่าเทียมกันกับเพื่อนบ้านหรือคนรู้จัก ความเป็นอิสระทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเหมือนความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลดังในยุคแห่งเสรีภาพ ความหมายของคำว่า รัก จึงถูกเปลี่ยนแปลงไป ด้วยความพยายามที่จะคงความรักระหว่างคู่ของตัว เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของหน้าที่ของครอบครัว ในปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่าความรักได้จืดจางหายไปอย่างรวดเร็ว แต่เด็กๆที่เป็นผลจากความสัมพันธ์ของพวกเขายังต้องการความรักและความเอาใจใส่ไปอีกระยะหนึ่ง
  1. เพศศาสตร์ในอนาคต
อนาคตของเพศศาสตร์ขึ้นอยู่กับการคงอยู่ของกระบวนการสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ผลที่เกิดขึ้นยุโรป คือ มีครอบครัวที่มีบุพการีเพียงคนเดียวจำนวนมากและผลตามมาก็คือ การเรียนรู้เรื่องสังคมของเด็กและความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของครอบครัว กระบวนการสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลทำให้ชีวิตคู่ไม่แตกต่างอะไรกับสัตว์ชั้นต่ำที่อาศัยอยู่ในระบบปิด ซึ่งมีความต้องการเพียงเพื่อผสมพันธุ์และสืบเผ่าพันธุ์โดยไม่ต้องสนใจใยดีกับสังคม เมื่อมนุษย์ปิดตาจากสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่ร่างกายเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่จิตใจเองก็อาจยากที่จะทนภาวะนี้ได้
เมื่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลพัฒนากว้างออกไปปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่เป็นไปด้วยตนเอง เพื่อตัวเอง มนุษย์จึงให้ความสำคัญต่อสุขภาพของตนเองสูงสุด เนื่องด้วยสุขภาพเกี่ยวข้องโดยตรงกับเพศสัมพันธ์ สถานฟิตเนสและสถานเสริมความงามผุดขึ้น และได้รับความนิยมอย่างมากทั้งเพศชายและเพศหญิง การโฆษณาส่งเสริมการขายโดยใช้สัญลักษณ์ทางเพศ          เพื่อกระตุ้นลูกค้าวัยเจริญพันธุ์ เป็นเครื่องยืนยันถึงวัฒนธรรมส่วนบุคคล แต่การเติบโตขึ้นของเพศศาสตร์ในปัจจุบันมีบางส่วนที่มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับอดีต ความเป็นอิสระของการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่กลับได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำไปพูดในสื่อในลักษณะเปิดเผย เป็นการดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ที่ว่าจะหาความรู้และความจริง นอกจากนี้ความแข็งแรงของร่างกายมนุษย์ ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับ             เพศศาสตร์ ทำให้มนุษย์เกิดความเครียดและความเสี่ยง เพื่อทำให้ร่างกายมีความสมส่วนในการกระตุ้นทางเพศ
โดยสรุป การพัฒนาการของเพศสัมพันธ์ในอนาคตน่าจะเป็นไปในลักษณะผสมผสาน เมื่อเสรีภาพถูกแทนที่ ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของสังคม มีผลทำให้เกิดการปรับตัวของสังคม เพื่อให้บทบาทถูกแสดงออกอย่างถูกต้อง


ที่มา https://kanlayakanlaya2014.wordpress.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ระบบย่อยอาหาร

ระบบย่อยอาหารของมนุษย์ เรื่องร่างกายใกล้ตัวชวนดูแล 169,543 อ่าน 123 เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม           ระบบย่อยอา...